Production Committee ผู้เลือกผลิตอนิเมะ & ภาคต่อ

สิ่งหนึ่งที่มักเข้าใจผิดบ่อยครั้ง คือ “สตูดิโอเป็นผู้เลือกว่าเรื่องไหนจะได้ทำอนิเมะ” ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะส่วนใหญ่เวลาประกาศว่าเรื่องไหนได้เป็นอนิเมะ จะไม่ค่อยพูดถึงผู้อยู่เบื้องหลังหรืออำนวยการผลิตสักเท่าไหร่ ต่างจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ชื่อของโปรดักชั่นเด่นกว่าสตูดิโอเสียอีก

ต้นทุนสร้างอนิเมะสูง

Airing anime doesn't actually make money

เมื่อก่อนการจะทำอนิเมะสักเรื่อง ต้องใช้เงินทุนที่สูงมาก เคยมีการเผยตัวเลขว่าประมาณ 250 ล้านเยน ถึง 500 ล้านเยน (ราวๆ 100-150 ล้านบาท) สำหรับอนิเมะเพียง 12-13 ตอน เพราะงานภาพต่อเนื่องที่ใช้มือวาดในแต่ละเฟรมภาพเคลื่อนไหว ค่าจ้างทีมงานหลายสิบชีวิตตลอดระยะเวลาโปรเจกต์ในหลายเดือน (ส่วนมากทีมงานทำได้เพียง 1-2 เรื่องในระหว่างขั้นตอนการผลิต) ค่านักพากย์ และรายจ่ายอื่นๆ

การสร้างอนิเมะในช่วงก่อนปี 2000 ขึ้นกับทางสถานีโทรทัศน์และสตูดิโอใหญ่ๆ เป็นหลัก โครงสร้างไม่ซับซ้อนเท่าไหร่ แต่ก็มีเพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถผลิตได้ แล้วงานที่สร้างขึ้นมา ยังต้องเหมาะสมกับทางสถานีโทรทัศน์ ทำให้ไม่มีความหลากหลายด้านผลงานมากนัก (ลองนึกถึง การ์ตูนทางช่องฟรีทีวี ช่อง 3, 5, 7, 9 สมัยก่อน ส่วนใหญ่จะเป็นการ์ตูนเด็ก)

season 2 because figures 1

เนื่องจากมีผลประโยชน์ไม่น้อยในด้านสินค้าลิขสิทธิ์ ต้นฉบับเดิม ทำให้มีการเล็งเห็นว่าสามารถแบ่งผลประโยชน์กันได้ และให้บริษัทที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมทุน

ภายหลังจึงมีการปรับให้ระบบเป็นแบบร่วมทุน โดยให้บริษัทที่ชำนาญเฉพาะด้านเข้ามามีส่วนร่วม หาวิธีทำให้เกิดกำไรขึ้นจากช่องทางต่างๆ และแบ่งให้บริษัทที่เข้ามาเกี่ยวข้องตามสัดส่วนของผลกำไร ทำให้การผลิตอนิเมะมีการยืดหยุ่นมากขึ้น และมีจำนวนมากขึ้นในแต่ละปี เพิ่มเป็นหลักร้อยเรื่อง ไปจนถึง 200-300 เรื่องต่อปี

บทบาทของ Production Committee

animegataris producer 2

Anime Production Committee เป็นกลุ่มตัวแทนของแต่ละบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทั้ง สินค้า เพลง อีเวนต์ บริษัทเกม ฯลฯ ที่มาพูดคุยถึงหนทางการทำเงินจากอนิเมะเรื่องนั้น เพื่อให้แต่ละฝ่ายได้ผลประโยชน์มากพอที่จะเลือกผลิตอนิเมะสักเรื่อง หรือ ตัดสินใจทำภาคต่อของอนิเมะบางเรื่อง

ถ้าสังเกตช่วง OP หรือ ED ในแต่ละเรื่อง จะมีการระบุถึง Production Committee ก่อนจบเพลง หรือสังเกตได้จากหัวข้อ Production ที่เข้ามากเกี่ยวข้อง (เช่น สำนักพิมพ์, สถานีโทรทัศน์, บริษัทเพลง, บริษัทเกม) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการทำให้อนิเมะสามารถผลิตออกมาได้ โดยลดข้อจำกัดจากด้านสถานีโทรทัศน์ลง

สมัยก่อน กำไรหลักจะอยู่ที่ขายแผ่นดีวีดี หรือ บลูเรย์ เท่านั้น ซึ่งน้อยเรื่องมากที่จะทำกำไรได้ ส่วนมากจะขาดทุนจนไม่ได้ทำต่อ หรือ บางเรื่องดูไม่น่าทำกำไรได้ มีฐานแฟนคลับในญี่ปุ่นน้อยเกินไป ก็ไม่สามารถทำได้

บางสตูดิโอขาดทุนอย่างต่อเนื่อง จากผลงานที่ทำไป จนสตูดิโออนิเมะต้องปิดตัวลงก็มีเช่นกัน ทำให้กำไรจากขายแผ่นอย่างเดียวไม่เพียงพอในปัจจุบัน และต้องพึ่งพาคนมาร่วมทุนมากขึ้น มีการขายสินค้า ตั๋วสุ่มแฟนอีเวนต์ สุ่มคอนเสิร์ต ซีเรียลโค้ด ฯลฯ

animegataris04 3

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนที่มากขึ้นทุกปี ทำให้การผลิตอนิเมะมีความเสี่ยงกับความขาดทุนเสมอ หรือ เลือกทำแต่อนิเมะที่ขายสินค้าได้ในประเทศญี่ปุ่น (โมเอะ, ไอดอล, แฟนตาซี) ยากที่จะได้เห็นอนิเมะบางแนวยากขึ้น แบบแนวแอ็คชั่นเน้นฉายต่อสู้ สยองขวัญ ปริศนา ฯลฯ

เป็นปัญหาที่เห็นชัดในช่วงหลังปี 2000 ที่มีของแถมเป็นตัวแปรหลักในการผลิตอนิเมะสักเรื่อง จนบางทีกลายเป็นเหตุผลที่ได้ทำอนิเมะภาคต่อ

บางเรื่องก็นำมาพูดผ่านสื่อในญี่ปุ่น หรือ ลงในต้นฉบับก็มี

umaru author said how get ss2 4
จาก Himouto! Umaru-chan เล่ม 10 ผู้เขียนกล่าวถึงเหตุผลที่ได้ทำ Season 2 ที่มาจากสินค้า และเกือบไม่ได้ทำเพราะยอดขาย BD/DVD

ถึงแม้ว่า ยอดขายช่องทางอื่นจะมีผลมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า แผ่นจะไม่สำคัญเลย การขายแผ่นยังคงเป็นช่องทางสำคัญในการพิจารณา จนถึงหลังปี 2020 จึงไม่แปลกที่ในญี่ปุ่นเองยังคงชวนให้ซื้อแผ่นบ่อยครั้ง เช่น โปรดิวเซอร์ของเรื่อง Kaguya-Sama S2 มีการพูดถึงพิจารณาทำ S3 ถ้ายอดแผ่นไปได้ดี ผ่านงานอีเว้นต์ในวันฉายตอนจบของภาค และยังไม่มีการประกาศภาค 3 หลังฉายจบ

ยุคสตรีมมิ่งต่างประเทศ

crunchyroll original 5

ต่างประเทศก็อยากทำอนิเมชั่น แต่ติดปัญหาที่ต้นทุนมหาศาล ทั้งค่าแรงบุคลากรที่สูงกว่าญี่ปุ่น และความซับซ้อนในการผลิต ทำให้ต้องผลิตผ่านประเทศที่มีความพร้อมอยู่แล้ว

ช่วงปี 2015-2020 น่าจะเห็นการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น (เริ่มตั้งแต่ก่อนหน้านั้น แต่ยังไม่บูม) ไม่ว่าจะสตรีมมิ่งรายใหญ่ฝั่งอเมริกา แบบ Crunchyroll, Funimation, Netflix, Amazon ฯลฯ ที่เข้ามาเป็นร่วมเป็น Production Committee ในการผลิตอนิเมะ พยายามสร้าง Exclusive ของตัวเอง รวมถึงทางฝั่งจีน หรือ เกาหลี ก็สนใจเข้ามาร่วมทุนมากขึ้น

สำหรับผู้ชม ก็ได้อานิสงส์ไปด้วย จากอนิเมะที่หลากหลายมากขึ้น เพราะฝรั่งยังคงต้องการแนวแอ็คชั่น ไซไฟ ที่ขายไม่ดีในญี่ปุ่น รวมถึงภาคต่อบางเรื่องที่แต่เดิมไม่น่าจะได้ดูต่อจากไปวัดจากยอดขายแผ่นอนิเมะ ซึ่งน่าจะมีตัวเลือกให้รับชมมากขึ้น และฝั่งไทยดูจะเริ่มมีช่องทางรับชมอนิเมะลิขสิทธิ์มากขึ้นเช่นกัน