5 เหตุผลที่แนวต่างโลก (Isekai) ได้รับความนิยมสูง

ในช่วงปี 2010 มังงะ ไลท์โนเวล อนิเมะแนวเรื่องที่ใช้ชื่อ Isekai (異世界) เพิ่มขึ้นแทบทุกปี โดยเฉพาะช่วงปี 2013 ขึ้นมามีการนำมาตีพิมพ์มาก เหตุผลหลักเพราะได้รับความนิยมสูงจากตามเว็บไซต์อ่านนิยายออนไลน์ เห็นได้แบบชัดเจนว่าเป็นแนวที่คนเข้าชมเยอะ ทำให้เกิดแนวนี้นำมาตีพิมพ์มากขึ้นตามลำดับ ซึ่งช่วงปี 2018 ไลท์โนเวลที่วางจำหน่ายอยู่จนถึงปัจจุบัน เรื่องแนวไปต่างโลกก็มีนับร้อยเรื่องได้

นิยามแนว Isekai

คำว่า Isekai รวมถึงทุกเรื่องที่เกี่ยวกับต่างโลก ไม่ได้จำกัดว่า เกิดใหม่ในต่างโลก หรือ ถูกเรียกไปต่างโลกเสมอ รวม พวกเข้าไปในเกมที่เหมือนอยู่ในอีกโลก, คนจากต่างโลกมาในโลกมนุษย์ หรือ ไป-กลับต่างโลกได้ และอีกหลายคำจำกัดความที่อาจกว้างกว่านี้

ถึงไม่ใช่หมวดหมู่ทั่วไปของนิยายที่ได้รับการยอมรับนัก แต่เว็บ Shousetsuka ni Narou ที่เป็นต้นกำเนิดของแนวนี้หลายเรื่อง ถึงกับต้องแยกหมวดหมู่เฉพาะไว้

isekai keyword search 1

แนว Isekai เริ่มกลายเป็นคำที่คุ้นหู คุ้นตา มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงหลังปี 2012 ที่ได้รับการตีพิมพ์ในญี่ปุ่นมากขึ้นตามลำดับ หลายเรื่องติดคำว่า “Isekai” เข้าไปด้วยตั้งแต่สมัยเป็นนิยายบนเว็บ และเรื่องส่วนใหญ่ที่ได้รับความนิยมจนตีพิมพ์ จะเน้นไปต่างโลก เลยเห็นแนวนี้เยอะเป็นพิเศษ ส่วนอนิเมะยิ่งมากขึ้นตามลำดับ

ทำไมแนวต่างโลกถึงบูม ?

สงสัยไหมว่า ทำไมถึงไม่เขียนแนวแฟนตาซี อย่างพวก DanMachi หรือ Rokudenashi Majutsu Koushi to Akashic Records ก็ยังได้รับความนิยมอยู่ ทำไมต้องเขียนแนว Isekai แทนแฟนตาซี ? และทำไมส่วนใหญ่ต้องใส่คำว่า อิเซไค ในชื่อ ? มาดูเหตุผลที่แนวต่างโลกได้รับความนิยมกัน

1. ตัวเอกโลกปัจจุบัน สู่แดนแฟนตาซี

การแต่งเรื่องไม่ว่าจะการ์ตูนหรือละคร ส่วนใหญ่จะสร้างความรู้สึกร่วมกับตัวละครเสมอ ซึ่งถ้าอิงกับโลกปัจจุบันโดยเฉพาะในวัยเดียวกับผู้อ่านได้ ก็จะใกล้ชิดกับผู้อ่านมากขึ้น อย่างที่เห็นว่าการ์ตูนดังๆ ส่วนใหญ่ ตัวเอกจะอายุ 15 – 18 ปี แทบทุกเรื่อง

แนวแฟนตาซีตั้งแต่กำเนิด ตัวเอกเกือบทุกเรื่องมีชะตากรรมตามพล็อตเรื่องที่วางไว้ ความรู้สึกมีส่วนร่วมกับตัวละครจะลดน้อยลงไประดับหนึ่ง

แนว Isekai ส่วนใหญ่ตัวเอก นำความรู้ของคนในยุคปัจจุบันไปด้วย ทำให้ได้เปรียบด้านการใช้ชีวิตกว่าตัวละครที่อาศัยในโลกนั้น บวกกับความคิดยังยึดติดและผูกพันกับโลกเก่าที่จากมา ทำให้ดูมีมิติมากกว่าตัวเอกแนวแฟนตาซีแบบเดิมๆ การเป็นการผสมที่ดูแปลกใหม่กว่าสำหรับผู้อ่าน

2. ความอิสระในการแต่งเรื่อง

ถ้า คุณได้ไปต่างโลก คุณอยากทำอะไร ? ถ้าลองนึกดูจะเห็นว่ากว้างมาก ยิ่งตัวเอกไม่ใช่ผู้กล้าแต่กำเนิด แต่เป็นเด็กมัธยม หรือ คนวัยทำงาน ที่ได้ไปอยู่ต่างโลก ไม่มีความจำเป็นที่ต้องกู้โลกอื่นด้วยซ้ำ เป้าหมายเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ตั้งแต่เดินสำรวจโลกกว้าง ยัน ใช้ชีวิตวันๆ อยู่แต่ในเมือง

ในโลกแฟนตาซีสไตล์ญี่ปุ่น มีหลายเผ่าพันธุ์ นำมาเขียนโยงเป็นเรื่องเป็นราวได้อีก แบบมอนสเตอร์พวก เอลฟ์ ออร์ค ก็อบลิน มังกร สัตว์ประหลาดในตำนาน หรือ เทพนิยาย บทสนทนาระหว่างสองโลกที่ต่างกัน มักสร้างความน่าสนใจได้อย่างเรื่อยๆ ไม่แปลกที่จะเลือกโลกแนว JRPG มากกว่าที่จะไปเกิดในอวกาศที่ไกลโพ้น

ชีวิตประจำวันก็แตกต่างกัน จะฝึกฝน หาเพื่อนใหม่ กิน ช็อปปิ้ง ทัวร์ ก็บรรยากาศแตกต่างไปจากคนในโลกนั้น เจอเหตุการณ์ที่อาจเกี่ยวข้องกับโลกที่จากมา หรือ ได้กลับไปในโลกเดิมชั่วคราว

คำว่า อิสระ ถ้าผสมกับพวกยุคกลางแบบแฟนตาซี ที่กฏหมายไม่เข้มข้นมากนัก ทำให้ การฆ่าคนต่างโลกที่ชั่วร้าย หรือ หาเมียสร้างฮาเร็ม ยิ่งสร้างความพอใจให้ผู้อ่านบางกลุ่มชัดเจน ตามความหมายคำว่าแฟนตาซี (จินตนาการ, เพ้อฝัน)

ถ้ายังนึกไม่ออกว่า อิสระขนาดไหน ลองเอาแนว Isekai ไปเติมหมวดหมู่หลักแบบ แอ็คชั่น ผจญภัย คอมเมดี้ ดราม่า โรแมนติก ทำอาหาร กีฬา ฯลฯ จะได้จำนวนเรื่องที่พอเป็นไปได้ แต่คนอ่านจะสนุกด้วยหรือเปล่า ก็ต้องดูกันที่องค์ประกอบอื่น

3. พล็อต = ตัวเอก

เรื่องที่ได้รับความนิยมสูงจนได้ทำมังงะและอนิเมะ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ความเทพของตัวเอก ไม่ว่าจะเทพจนไร้พ่าย, ระดับกลางๆ, อ่อนช่วงแรก เทพภายหลัง, สายวางแผนการรบ หรือ เป็นตัวถ่วงทีมเน้นสายฮา ถ้ามองนิยายยังมีอีกหลายแนวที่ได้รับความนิยมพอสมควร โดยเฉพาะไปเอาดีด้านอื่น อย่าง ทำอาหาร, ทำการค้า, ทำยา, เปิดร้าน, เปิดโรงแรม, มีสกิลพิศดาร ฯลฯ แต่หลายแนวก็ยากที่จะนำมาเขียนในสื่ออื่น มังงะหลายเรื่องตัดจบไปเพราะไม่ได้รับความนิยม ส่วนใหญ่เลยได้เห็นแต่แนวต่อสู้ หรือ ทำอาหาร ค่อนข้างมาก

แนว Isekai หลายเรื่อง แค่อ่านบทนำก็น่าสนใจ ตัวเอกเคยเป็น X ไปต่างโลกในฐานะ Y พร้อมความสามารถ Z ผสมกันได้หลายแบบ (เติม X, Y, Z ตามต้องการ) ทั้งนี้ตัวเอกอย่างเดียวไม่ทำให้เรื่องน่าสนใจ ต้องเสริมสตอรี่เข้าไปอีก อย่าง ความลับที่ทำให้ชวนติดตาม, ประเด็นที่น่าสนใจ, ตัวละครต่างโลกที่ดึงดูด, ความแตกต่างในสองโลก ซึ่งกระตุ้นคนอ่านติดตามอยู่เรื่อยๆ อยู่ที่ฝีมือของผู้แต่ง

เรื่องบทตัวเอกจากโลกมนุษย์ก็สำคัญไม่น้อย บางทีก็สร้างตัวละครยอดนิยมได้ อย่าง เมกุมิน ใน Konosuba หรือ เรม ใน Re:Zero ถ้าพระเอกเป็นผู้กล้าที่เกิดในโลกแฟนตาซี บทฝ่ายหญิงจะด้อยลงไปเยอะ แต่พอเป็นชาวญี่ปุ่นที่มาพร้อมบางอย่าง ทำให้บทตัวละครดูเด่นขึ้นมากไปอีกขั้น

4. ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ใครๆ ก็อยาก

ถึงมนุษย์เราไม่รู้ว่าตายแล้วไปไหน แต่ในปัจจุบัน ใครๆ ก็อยากเริ่มต้นใหม่เพื่อแก้ข้อผิดพลาด ซึ่งพล็อตเรื่องเกิดใหม่ในโลกเดิม มีข้อจำกัดเยอะครับ คิดง่ายๆ ถ้าตัวเอกเกิดใหม่ในยุคปัจจุบัน แล้วยังไงต่อ ? ขยันเรียนจนจบปริญญาเอก หาทางทำเงินจนกลายเป็นเศรษฐีพันล้าน หาแฟนระดับนางงาม หรือวางแผนได้ครองโลก … คนอ่านคงสนุกตายล่ะ เหมือนคนแต่งเขียนระบายความฝันที่เป็นไปไม่ได้ของตัวเอง

แนวได้เริ่มชีวิตใหม่ หรือ ย้อนเวลา ในโลกปัจจุบันก็มีอยู่บ้าง แต่ถูกจำกัดเป็นแนวดราม่าเกือบหมด ซึ่งไม่ได้รับความนิยมในตลาดส่วนใหญ่

ถ้าเกิดใหม่ หรือ ถูกอัญเชิญ + ไปต่างโลก ดูจะมีอะไรให้ผู้อ่านติดตามได้มากกว่า ไม่ว่าจะตั้งรกรากในต่างโลก หรือ หาวิธีกลับมาสู่โลกเดิม เป้าหมายปลายทางไม่ค่อยสำคัญเท่าการดำเนินเรื่อง

5. ตัวเอกเข้าถึงวัยผู้อ่านได้กว้าง (พวกเกิดใหม่)

ถ้าสังเกตดีๆ การ์ตูนส่วนใหญ่พยายามอิงกลุ่มตัวเอกให้อยู่ในวัยเดียวกับผู้อ่านที่มีสัดส่วนมากสุด จึงเลือกมัธยมปลายที่เป็นวัยค่อนข้างอิสระระหว่างวัยรุ่นและผู้ใหญ่

อย่างไรก็ตามแนวเกิดใหม่ในต่างโลก สามารถเซ็ตเวลาได้กว้าง จะให้คนวัยทำงาน, วัยกลางคน ถึงวัยชรา ไปเริ่มชีวิตใหม่ในต่างโลกได้ ถึงเซ็ตให้อยู่ในวัยรุ่นที่ดีไซน์ถูกกลุ่มเด็กและวัยรุ่น แต่ด้วยความคิดและประสบการณ์ชีวิตที่มากกว่าสร้างความแตกต่างให้ตัวละครหลักดูมีมิติ และเข้าถึงกลุ่มอ่าน 20 – 40 ปีขึ้นไป ได้ด้วย

เสริม: เหตุผลที่มาต่างโลก ?

ทำไมถึงมาต่างโลกได้ มีใครมาด้วยหรือไม่ กลับโลกเดิมยังไง ? บางเรื่องแฝงประเด็นนี้มาเสริมความน่าติดตาม (เช่น Overlord, Re:Zero) ซึ่งแนวต่างโลกปัจจุบันไม่ค่อยพูดถึง ต่างจากแนวมาต่างโลกในยุคก่อนปี 2010 ที่ต้องพยายามหาวิธีกลับโลกมาเป็นประเด็น แต่แนว Isekai ปัจจุบันดูจะให้ตัวเอกพอใจกับโลกใหม่ เรื่อง “เหตุผล” จึงกลายเป็นประเด็นที่ไม่น่าสนใจสำหรับผู้อ่าน

สรุป

นิยายประเภท Isekai ดูจะเป็นแนวที่เข้าถึงผู้อ่านได้ดี แต่งขึ้นตามความต้องการผู้อ่านที่อยากได้ความแตกต่างจากเรื่องปัจจุบัน หลุดจากกรอบข้อจำกัด พร้อมตัวละครที่ดูใกล้ชิดกับผู้อ่าน แนวเรื่องผสมผสานได้หลายแบบ รองรับผู้เขียนที่มีจำนวนมากที่ไม่ต้องการแข่งกับผลงานเก่า

แนวในโลกปัจจุบัน ที่มาตามยุคสมัยแบบ นั่งคุยในห้องเรียน, ไอดอล, ฮีโร่, สาวน้อยเวทมนตร์, รักต้องห้ามพี่-น้อง, แอนดรอยด์, กีฬา ฯลฯ เคยมีมาหมดแล้ว ทำให้แต่งเป็นนิยายยากขึ้นและโดนเปรียบเทียบเสมอ ต่างจาก Isekai ที่เพิ่มเป็นหมวดหมู่ใหม่ขึ้นมา

ในข้อดีก็มีข้อเสีย เพราะไม่ได้เป็นการแสดงฝีมือของผู้แต่งมากนัก อาศัยความแปลกและไม่เคยมีใครแต่งมาเป็นจุดเด่นแทนที่จะเน้นศิลปะการเขียน จนบางสำนักพิมพ์ถึงเคยห้ามส่งเรื่องแนวนี้เข้าประกวด (แต่บางค่ายยังอนุญาต) บางเรื่องก็ไม่ได้เหมาะทำมังงะหรืออนิเมะ รวมทั้งบางเรื่องความสนุกลดลงในเล่มหลังๆ เพราะเขียนแบบไม่มีเป้าหมายปลายทางไว้ ตัวละครบางเรื่องโดนกลืนในโลกใหม่จนกลายเป็นแฟนตาซีเต็มตัว ขาดจุดเด่นแบบ Isekai ไปก็มี

พวกเรื่อง Isekai จะสนุกหรือไม่ ก็ต้องดูที่เชิงลึกอีกว่าคนแต่งเรื่องสามารถดึงจุดเด่นของสองโลกให้น่าติดตามได้มากแค่ไหน เชื่อว่าคงได้เห็นแนวนี้กันไปอีกสักระยะ

แนวแฟนตาซีถึงทางตัน ?

ย้อนกลับมาที่คำถามต้นเรื่อง แนวแฟนตาซีดั้งเดิม ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน อย่าง Mahouka, DanMachi หรือ Akashic Records ต้องบอกว่าโครงเรื่องไม่ได้เขียนกันง่ายๆ ใช้ความพยายามในการเขียนสูง องค์ประกอบหลายอย่างลงตัวพอดี ทำให้ได้รับความนิยม ยากที่จะเลียนแบบแล้วประสบความสำเร็จเท่า ในขณะที่พวกตลาดไลท์โนเวลเองก็โตขึ้นแต่คนซื้อไม่เพิ่มจากเดิมมากนัก แต่ละสำนักพิมพ์มีนักเขียนหลักสิบถึงร้อยคนที่เขียนไลท์โนเวล ไม่แปลกที่ไปต่างโลก ดูจะเป็นอะไรที่แต่งได้หลากหลาย ตามจินตนาการของผู้แต่ง

แนว แฟนตาซี ยังคงอยู่ได้ เพียงแต่โอกาสที่จะสร้าง “ความแปลกใหม่” ให้กับผู้อ่านยังเป็นเรื่องยาก นานๆ ถึงจะมีเรื่องใหม่ที่สามารถทำได้ในระดับนั้น

อนิเมะแนวไปต่างโลก

สำหรับเรื่องที่มีคำว่า Isekai ในชื่อเรื่อง และได้ทำเป็นอนิเมะ (ถึงต้นปี 2018) มีดังนี้

  • Mondaiji-tachi ga Isekai kara Kuru Sou Desu yo (2013)
  • Re:Zero kara Hajimaru Isekai Seikatsu (2016)
  • Isekai wa Smartphone to Tomo ni (2017)
  • Isekai Shokudou (2017)
  • Death March kara Hajimaru Isekai Kyousoukyoku (2018)
  • Isekai Izakaya “Nobu” (น่าจะ 2018)

หลายเรื่องแนวเดียวกันหรือคล้ายกัน แต่ไม่มีคำว่าต่างโลกในเรื่อง อย่าง KonoSuba, Overlord, Youjo Senki, No Game No Life, Knight’s & Magic, Hai to Gensou no Grimgar, Log Horizon แล้วยังมีพวกถูกเรียกไปต่างโลกและไปเที่ยวต่างโลกอีกหลายเรื่องตั้งแต่อดีต