ทำไมอนิเมะต้องตัด เร่ง แก้ไขเนื้อหาจากต้นฉบับ

เรื่อง ตัด เพิ่ม เร่ง แก้ไข เป็นเรื่องปกติของทั้งซีรีส์ ภาพยนตร์ รวมถึงละครในไทยเองก็เช่น แน่นอนว่าแฟนต้นฉบับเดิมมีความไม่พอใจแทบทุกเรื่อง แม้ซีรีส์ตะวันตกระดับท็อปแบบพวก Game of Thrones, Walking Dead ภาพยนตร์พวกฮีโร่ Marvel, DC หรือภาคต่อหลายภาคแบบ Harry Potter, Star Wars ถูกแก้ระดับที่แฟนคลับเคืองทุกเรื่อง เพราะมีปัญหาเรื่องจำกัดเวลาและความเหมาะสมในหลายกรณี ทำให้ต้องมีการแก้ไขแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับอนิเมะส่วนใหญ่ที่ฉายทางโทรทัศน์ ปัจจุบันเวลาฉายจะถูกจำกัดไว้ที่ประมาณ 12 – 26 ตอน หรือ ประมาณ 4 – 9 ชั่วโมง ขั้นตอนการผลิตส่วนใหญ่ก็เวลาเป็นปี ใช้บุคลากรนับสิบถึงร้อยชีวิตในขั้นตอนทั้งหมด (รวมฟรีแลนซ์ และ เอาต์ซอร์ส) งบโดยรวมเทียบเป็นเงินบาทก็หลับสิบ-ร้อยล้านบาท ซึ่งไม่มีอะไรการันตีว่าจะได้กำไรกลับมาหรือคนสนใจต้นฉบับมากขึ้น บางเรื่องยอมให้ยาวกว่านั้น เพราะต้องการให้เก็บเนื้อหามากขึ้น ขึ้นกับผู้กำกับและทีมงานว่าต้องการแบบไหน

  • ยืด – เพื่อเก็บรายละเอียด ผู้ชมอินกับเนื้อหาต้นฉบับมากสุด
  • เร่ง – เพื่อให้เนื้อหาไปถึงช่วงสนุกของเรื่อง โดยเฉพาะตัวละครใหม่ที่อาจอยู่ในบทหลังๆ
  • เพิ่ม/แก้ไข – แก้ต้นฉบับเดิมให้เหมาะสมกับทีวีอนิเมะ เพิ่มบทให้ตัวละคร รวมถึงเพิ่มฉากจบให้ลงตัว

จุดที่ยากที่สุดของ มังงะและไลท์โนเวล อยู่ตรง “จบตรงไหน ?” ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่จบ และหลายเรื่องเขียนเนื้อหาช่วงแรกไว้อ่อนมาก ทำให้บางเรื่องผู้กำกับตัดสินใจแก้ไขเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย แต่เกิดเสียวิจารณ์ต่อแฟนคลับเดิม

บางคนตั้งทฤษฏีว่า อนิเมะทำมาเพื่อขายมังงะหรือไลท์โนเวล ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ผิดครับ ต้องบอกว่าทุกเรื่องเป้าหมายเป็นแบบนั้นจริง แต่ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้เนื้อหาถูกแก้ไขมากน้อยต่างกันไป ประเด็นหลัก คือ ต้นฉบับยาวเกินกว่าที่จะฉายทางทีวีแทบทุกเรื่อง ตรงข้ามกับเวลาฉายที่มีจำกัดมาก

ทำไมต้องมีอนิเมะ ? มังงะ ไลท์โนเวล วิชวลโนเวล และสื่ออื่น ถ้านับตั้งแต่ปี 2000 มา น่าจะมีนับหมื่นเรื่อง คนทั่วไปแทบไม่มีทางได้รู้จัก มีแต่แฟนคลับที่ตาม ซึ่งคิดเป็นส่วนน้อย แม้แต่มังงะเองแต่ละปีมีเรื่องใหม่เพิ่มนับร้อยๆ เรื่อง ในขณะที่เรื่องเก่าส่วนใหญ่ก็ไม่ยอมจบ แทบไม่มีโอกาสได้สัมผัสถึงความสนุกของเรื่องใหม่ ทำให้อนิเมชั่นภาพเคลื่อนไหว เป็นสื่อที่เข้าถึงผู้ชมได้ดีกว่าทุกช่องทาง เลยถือเป็นคำตอบที่ดีในการเข้าถึงกลุ่มผู้ชมใหม่ๆ

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้น อนิเมะที่มาจากต้นฉบับ ไม่ต่างจากโฆษณาที่คุ้มค่าและวัดผลได้ชัดเจน กว่าช่องทางอื่น ดีกว่าเอาไปโฆษณาทางทีวี หนังสือพิมพ์ ขึ้นป้ายประกาศในย่านอากิบาฮาระ แน่นอนว่าทางฝั่งเจ้าของลิขสิทธิ์หวังให้อนิเมะทำออกมาดีที่สุด “ในงบที่จำกัดไว้” แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องจะทำออกมาได้ดี

สุดท้าย อนิเมะช่วยเพิ่มยอดขายแบบนั้น ยังมีค่าพอที่จะดูอยู่ไหม ? ขึ้นกับว่าทำออกมาสนุกแค่ไหน วัดกันที่ผู้กำกับและทีมงานสร้างของแต่ละเรื่อง ซึ่งบางเรื่องสำหรับคนที่ไม่เคยดูต้นฉบับมาก่อน ก็สนุกได้โดยไม่ต้องเครียดว่าเนื้อหาต่างจากต้นฉบับเดิมไปบางส่วน บางเรื่องก็ดูฉากแอ็คชั่น ลายเส้น ภาพเคลื่อนไหว เพลง หรืออย่างอื่นที่เป็นข้อดีทดแทนจากต้นฉบับ ส่วนคนที่เป็นแฟนผลงานเรื่องนั้นๆ บางทีก็ต้องเปิดใจครับ