3 เหตุผลที่อนิเมะส่วนใหญ่มีแค่ 12-13 ตอน (ตัดจบ ?)

ต้องบอกก่อนว่า ในทางปฏิบัติ อนิเมะไม่มีคำว่าตัดจบ ที่สร้างมาเพื่อซัพพอร์ตต้นฉบับเดิม เช่น มังงะ, ไลท์โนเวล, เกมที่มีภาคต่อ เหตุผลเดียวที่ไม่ทำต่อ คือ ไม่คุ้มที่จะผลิตต่อ ทำให้เลือกจบไปเพียงไม่กี่ตอน ในปัจจุบันคงต้องบอกว่า ทุกเรื่องคิดแบบนั้น ถ้าเกิดบูมขึ้นมาค่อยพิจารณาทำต่อกันอีกที ถ้าให้เลือกคำแบบไทยๆ ผมว่า ลอยแพ ยังดูจะตรงความหมายกว่าตัดจบ อย่า่ง หนังสือ LC การ์ตูนไทย ก็เหตุผลทำนองเดียวกัน ยิ่งขายยิ่งลด จนไม่คุ้มที่จะพิมพ์ต่อ

1. ต้นทุนสูง แผ่นแพง

ทุนในการผลิตอนิเมะ กับสื่ออื่น คนละระดับกัน อย่างอนิเมะ 26 ตอน ทุนสร้างอยู่ที่ 300 – 500 ล้านเยน พอผลิตหนังได้เป็นเรื่อง ซึ่งเป็นเหตุผลที่แผ่นทีวีอนิเมะแพง พอราคาสูงก็ขายยากขึ้นตามลำดับ แต่ขายถูกก็ขาดทุน จึงต้องหากำไรจากทางอื่นมาเสริม

ตัวเลือกปัจจุบันก็ไม่น้อยๆ ปีนึงมีอนิเมะใหม่ประมาณ 200 – 300 เรื่อง ถ้านับเฉพาะแนวที่คุณภาพพอมีแฟนติดตาม น่าจะหลัก 100 เรื่องต่อปี

บางคนอาจคิดว่า ค่าครองชีพญี่ปุนสูงอยู่ งานพาร์ทไทม ได้เป็น 1,000 เยน ต่อชั่วโมง ซื้ออนิเมะสักเรื่องแบบในภาพบน (Fate/Apocrypha) ทำงานพิเศษสัก 50 ชั่วโมงก็ได้อนิเมะ 25 ตอนแล้ว … แต่จำนวนเงินขนาดนั้น เอามากินอยู่ได้เป็นเดือนเหมือนกัน, เอาไปซื้อมังงะ น่าจะได้ร่วมๆ 100 เล่ม หรือ ซื้ออนิเมะเรื่องอื่นที่สนุกกว่าในปีนั้น ทางเลือกใช้จ่ายก็มีเยอะครับ

2. ภาคต่อผลตอบแทนน้อย

การจะหากินกับภาคต่อไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยอดจะลดลงเสมอเกือบจะ 100% ของภาคต่อเลยก็ว่าได้ เหตุผลหนึ่ง คือ อนิเมะภาคต่อ คนที่ซื้อส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เคยซื้อภาคแรกเท่านั้น และ ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ที่จะซื้อภาคต่อ คนที่ซื้อใหม่ก็รอซื้อพวกภาคแรกๆ แบบมือสอง

ยกอย่าง ยอดเฉลี่ยเรื่องที่มีหลายภาคสักเรื่อง (จาก Oricon)

  • Gintama (2006) – 15,448 ชุด
  • Gintama’ (2011) – 12,575 ชุด
  • Gintama’: Enchousen (2012) – 9,465 ชุด
  • Gintama° (2015) – 6,080 ชุด

กระแสลดตามเวลาก็มีส่วน แต่ช่วง 2011-2012 ถือว่าช่วงพีคของมังงะ ไม่ควรจะยอดลดขนาดนั้น แต่กินทามะภาคหลังๆ ก็เลือกฉายรอบดึกแทน ซึ่งลดทุนไปได้มากเช่นกัน ไม่เหมือนภาคแรกๆ ที่ฉายช่วงไพร์มไทม์แบบตอนเย็น

แบบกรณีหนักๆ ก็มีหลายเรื่องที่ยอดลดลงมาก (เปอร์เซนต์ที่ลด) สาเหตุหนึ่ง คือ ทิ้งช่วงนาน แต่ในกระบวนการผลิต การทำให้เสร็จใน 1-2 ปีไม่ใช่เรื่องง่าย ยกเว้นจะเตรียมการมาแต่แรก

sell drop 1

ถึงจะเป็นพวกแบ่ง Season ห่างกันไม่ถึงปี ก็ลดได้อยู่ดี แต่ไม่หนักเท่าภาพบน

3. อนิเมะใหม่ น่าลงทุนกว่า

ฝั่งโปรดักชั่น การผลิตอนิเมะก็เหมือนการลงทุน ถ้าการทำภาคต่อแล้วไม่คุ้ม และเรื่องใหม่ในแต่ละปีที่มีศักยภาพพอสร้างอนิเมชั่นได้ มีไม่น้อยเลย จะเสี่ยงให้บริษัทขาดทุนทำไม ? ลอยแพหรือตัดจบ ไปยังดีกว่า

แล้วจะผลิตมาทำไม ?

อนิเมะจากสื่ออื่น สร้างเพื่อโฆษณาให้คนรู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะไลท์โนเวล อย่าง Youkoso Jitsuryoku Shijou Shugi no Kyoushitsu, Re:Zero, Overlord, Mahouka, Steins;Gate ถ้าไม่ทำเป็นอนิเมะ คนรู้จักก็แค่เสี้ยวนึงของวงการการ์ตูน ไม่บูมจนถึงปัจจุบัน

มองข้อดี ก็ถือว่าทำให้เราอยากซื้อต้นฉบับลิขสิทธิ์มากขึ้น (ถ้ามีขายในไทย) และได้รู้จักทางเลือกใหม่มากขึ้น ซึ่งบางคนดูแต่การ์ตูนที่มีฉายทางทีวีในไทย แทบจะไม่รู้ว่ามีเรื่องสนุกๆ อีกเยอะในญี่ปุ่นทั้งอนิเมะและสื่ออื่น

ย้ำประโยคย่อหน้าแรกอีกที อนิเมะแทบไม่มีเรื่องไหนหวังทำจนจบ ยกเว้นผลตอบรับจะดีมาก, เนื้อหาไม่ยาวเกินไป หรือ พวกสปอนเซอร์ทุนหนาแบบเรื่องยาวของโชเน็นจัมป์ ซึ่งมีไม่กี่เรื่องที่ผ่านเกณฑ์ ดังนั้น ดูจบแล้ว หาโอกาสไปดูต้นฉบับต่อน่าจะสบายใจกว่ารอภาคต่อของบางเรื่อง