
ปลายยุค 2000s ถือว่าไม่ธรรมดา ปีนี้มีทั้งค่ายที่ซุ่มเงียบมาหลายปีอย่าง Shaft เปิดตัวแรงด้วยเรื่อง Bakemonogatari (ปกรณัมของเหล่าภูต) ที่ยอดถล่มทลายจากทั้งวิธีนำเสนอ เนื้อเรื่องที่น่าสนใจ ฝีมือผู้กำกับ Shinbou Akiyuki และอีกหลายเหตุผล แม้จะเผางานเยอะแต่ก็ยังคงได้รับเสียงชม จนแผ่นขาดตลาดในช่วงแรกที่เริ่มวางจำหน่าย เพราะคาดไม่ถึงกับยอดซื้อ
Kyoto Animation มาแปลก ปั้นจากการ์ตูนสี่ช่องแทบจะไม่มีใครรู้จัก อย่าง K-ON! (เค-อง! ก๊วนดนตรีแป๋วแหวว) ให้กลายเป็นแนวในรั้วโรงเรียนที่น่าติดตามแบบ, J.C.Staff ก็ส่งภาค Spin Off แบบ Toaru Kagaku no Railgun ที่ขายดีกว่าภาคหลักร่วมเท่าตัว
Bones มีผลงานเด่นในปีนี้ถึงสองเรื่อง คือ ภาครีเมคให้ตรงกับต้นฉบับเดิม อย่าง Fullmetal Alchemist ที่ทำจนจบ จัดว่าขายดีแม้จะสู้ภาคเก่าไม่ได้ Darker than Black: Ryuusei no Gemini ถือว่าขายดีกว่าภาคแรกเสียอีก แต่จบแบบเหมือนจะมีภาคต่อแล้วไม่มีต่อจนผ่านไปกว่าสิบปี
อนิเมะ Bleach ยอดตกค่อนข้างชัดเจน จากเนื้อหาที่เริ่มน่าเบื่อและยืดยาวขึ้น อีกส่วนหนึ่งเพราะคนซื้อเริ่มตามไม่ไหว ปัญหาเดียวกับเรื่องอื่นของโชเน็นจั๊มป์
เคสที่น่าสนใจในปีนี้ คงไม่พ้น Endless Eight ของ Suzumiya Haruhi no Yuuutsu (2009) ที่รอกันมาสามปี ซึ่งเชื่อว่าจะเอาเล่ม 4 ซึ่งถือว่าเนื้อหาดีสุดของไลท์โนเวลมาทำ จึงคาดว่าจะเป็นการ รีรันตอนเก่า 14 ตอน และตอนใหม่อีก 14 ตอน แต่ก็มีเซอร์ไพรส์ เมื่อมีตอนใหม่ 6 ตอน กับอีก 1 ตอน Endless Eight ก็สมชื่อ คือ ให้ดู 8 ตอนที่วนลูป จากทีมงาน 8 คนที่คุมการผลิตแต่ใช้เนื้อหาเดิม บทพูดเกือบเหมือนเดิม สรุปตอนใหม่จากนิยายจริงๆ มีเพียง 6+1(*8) = 7 ตอน ทำเอาแฟนนิยายทั้งผิดหวังและวิจารณ์กันแรงในยุคนั้น พาดพิงไปถึงแนวโมเอะเน้นคุยในชมรมแบบ K-ON! และเปรียบกับเรื่องนำเสนอดีกว่าแบบ Bakemonogatari ในฤดูเดียวกัน (แม้จะเผาเยอะ) อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังคงติดอันดับ 4 เรื่องขายดี ส่วนเนื้อหาเล่ม 4 Suzumiya Haruhi no Shoushitsu (การหายตัวไปของสึซึมิยะ ฮารุฮิ) ได้ประกาศในตอนจบเพื่อทำมูฟวี่ ซึ่งกลายเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำรายได้สูงในช่วงนั้น
อีกเคสที่น่าสนใจมีหลายอย่าง
- KyoAni มีเรื่องที่ขายแย่สุดนับแต่เปิดบริษัท คือ Sora o Miageru Shoujo no Hitomi ni Utsuru Sekai หรืออีกชื่อ Munto นับเป็นแนวออริจินัล (ไม่ได้มาจากสื่ออื่น) เรื่องแรกที่ผลิตเอง หลังจากนั้นไม่เคยผลิตแนวออริจินัลอีกเลยจนถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งจะคัดผลงานจาก Kyoto Animation Award มาใช้และดัดแปลงเนื้อหาจากต้นฉบับเดิมมากกว่า
- เรื่องคุณภาพระดับมูฟวี่ ที่นำมาฉายทางทีวีอย่าง Higashi no Eden (Eden of the East) ของทาง Production I.G. ถึงเสียงตอบรับจะดี แต่ยอดกับไม่ได้เด่นอย่างที่หวัง จนทีมงานแสดงความไม่พอใจผ่านสื่อ พาดพิงถึงแนวโมเอะเรื่องอื่น
- Umineko no Naku Koro ni ของทาง Studio Deen กระแสก่อนฉายถือว่าดีมาก ขนนักพากย์ชื่อดังในยุคนั้นมาแทบครบจากตัวละครเกือบ 40-50 คน ดูจะปั้นให้ดังกว่าซีรีส์ Higurashi no Naku Koro ni แต่กลับลำดับเรื่องในเกณฑ์ที่แย่ น่าจะเพราะไปเน้นหลอนและลำดับเรื่องได้ไม่ดีพอ จนยอดออกมาในเกณฑ์ที่แย่